ไขข้อข้องใจ รถยนต์มี “เทอร์โบ” แล้วช่วยเพิ่มแรงม้าแถมประหยัดขึ้นขึ้นจริงหรือ?

ฉลาดเลือก – ฉลาดซื้อ

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่า ในขณะนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็มักจะพบกับรถยนต์ที่ติดตั้งระบบอัดอากาศ “เทอร์โบ” โดยที่ค่ายรถยนต์ต่างๆก็มักจะมีการโฆษณาว่า เมื่อมีเทอร์โบแล้วจะทำให้รถยนต์ทั้งแรง! ทั้งประหยัด! แต่จะจริงเท็จประการใด “รู้ก่อนเยียบ” ขอเอาคำตอบมาฝากกัน

ทำความรู้จัก “เทอร์โบ”
มีชื่อจริงว่า “เทอร์โบชาร์จเจอร์ (Turbocharger)” หน้าที่คืออัดอากาศเข้าไปยังห้องเผาไหม้ให้มากกว่าเดิม ก็จะทำให้เชื้อเพลิงฉีดมากขึ้นตามไปด้วย จนทำให้การจุดระเบิดในห้องเผาไหม้มีความรุนแรงมากกว่าปกติ โดย “การทำงานของเทอร์โบ” ก็ไม่ได้มีความซับซ้อนมากมายนัก เพราะ ส่วนประกอบหลัก จะประกอบด้วย สองใบพัด ที่ยึดติดบนแกนเดียวกัน คือ “คอมเพรสเซอร์” หรือใบพัดที่อยู่ฝั่งไอดี และ “เทอร์ไบน์” ใบพัดที่ถูกติดตั้งไว้ที่ฝั่งไอเสีย โดยอาศัยแรงจากไอเสียที่คายออกมาจากห้องเผาไหม้มา “หมุนทอร์ไบน์” และเมื่อ “ทอร์ไบน์” หมุน ใบพัด ฝั่ง “คอมเพรสเซอร์” ก็จะหมุนด้วยความเร็วเท่ากัน ซึ่งการหมุนของ “คอมเพรสเซอร์” จะสร้างแรงอัดอากาศให้มีแรงดันสูง และพร้อมที่จะไหลเข้าสู่ห้องเผาไหม้เพื่อจุดระเบิด และเมื่อหัวฉีดจ่ายน้ำมันในอัตราส่วนที่พอดี “การจุดระเบิดก็จะสมบูรณ์และรุนแรงกว่าเครื่องยนต์รุ่นเดียวกัน ที่ไม่มีการติดตั้งเทอร์โบ” และด้วยเหตุผลดังกล่าวนั้น เมื่อเทอร์โบทำให้รถได้กำลังมากกว่าปกติ ก็เป็นที่มาของการที่ “เทอร์โบสามารถเพิ่มแรงม้าและประหยัดได้จริง” นั่นเอง
ส่วนประกอบอื่น ๆ ของระบบ “เทอร์โบ”
– “อินเตอร์คูลเลอร์” มีหน้าที่ลดอุณหภูมิของไอดีก่อนไหลเข้าเครื่องยนต์ เพิ่มความหนาแน่นของอากาศ ทำให้การจุดระเบิดมีประสิทธิภาพสูงสุด
– “เวสต์เกต” ทำหน้าที่ควบคุมแรงดันอากาศไม่ให้มีมากเกินไป เมื่อแรงอัดในท่อร่วมไอดีสูงถึงค่าที่กำหนด “เวสต์เกต” จะทำหน้าที่ระบายแรงดันไอเสียให้ไหลออกไป โดยที่ไม่ผ่านใบพัด “เทอร์ไบน์” เพื่อลดแรงดันอากาศ ในท่อร่วมไอดีให้น้อยลงและป้องกันการเสียหายอีกด้วย
– “โบออฟ” มีหน้าที่ “ป้องกัน เทอร์โบเสียหาย” ในขณะที่เราเหยียบเร่งและถอนคันเร่งออก ซึ่งตัว “โบออฟ” จะทำหน้าที่คายแรงดันส่วนเกินทิ้ง  ป้องกันไม่ให้แรงอัดอาการสูงปะทะเข้ากับลิ้นปีกผีเสื้อ และไหลย้อนกลับไปยังใบพัด เทอร์ไบน์” จนเกิดความเสียหาย และยังเป็นที่มาของเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ของรถ “เทอร์โบ”

อย่างไรก็ตาม นอกจากคุณสมบัติของเทอร์โบทั้งหมดตามที่ช่างเอกนำมาฝากแล้ว  ในปัจจุบันค่ายผู้ผลิตรถยนต์หลายรายไม่ได้เพียงแค่ติด “เทอร์โบ”เข้าไปเท่านั้น แต่ ยังมีการลดปริมาตรกระบอกสูบลง ส่งผลให้สามารถรีดกำลังจากเครื่องยนต์ที่ความจุน้อย ได้เทียบเท่ากับเครื่องยนต์ใหญ่กว่า ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือเกิดการประหยัดมากขึ้นอีกด้วย..

…………………………………..
คอลัมน์ : รู้ก่อนเหยียบ

โดย “ช่างเอก”

ติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงที่ [email protected]
………………………..
ขอบคุณข้อมูลจาก
-บริษัท มาสเตอร์ มอเตอร์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด / www.mmsboschcarservice.com https://www.dailynews.co.th/article/640308