“น้ำมันเครื่อง”หลายเรื่องที่ต้องรู้ ก่อนสตาร์ทรถ

ฉลาดเลือก – ฉลาดซื้อ

ระดับน้ำมันเครื่องที่สูงจนมากเกินไป จะถูกดันผ่านแหวนลูกสูบขึ้นไปเผาไหม้พร้อมกับน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้มีเขม่าจับภายในห้องเผาไหม้ จนเครื่องยนต์อาจน็อกได้

หลังจาก “รู้ก่อนเหยียบ” นำเสนอหลายแง่มุมของน้ำมันเครื่อง ทั้งเกรดธรรมดา-กึ่งสังเคราะห์-สังเคราะห์ รวมถึงความข้นใส-มาตรฐาน และความหมายที่ระบุในฉลากข้างแกลลอน ในตอน น้ำมันเครื่อง:เรื่องที่ต้องรู้!! และ น้ำมันเครื่อง : เรื่องที่ต้องรู้ ภาค2 เพื่อให้ทุกท่านนำไปประกอบการตัดสินใจในการเลือกใช้ แต่ยังมีการ ”ตรวจวัดระดับน้ำมันเครื่อง” ที่มีความสำคัญไม่แพ้การเลือกน้ำมันเครื่องที่มักจะถูกมองข้ามหรือหลงลืมไป

การตรวจวัดระดับน้ำมันเครื่อง

ในอดีตเรามักได้ยินคำแนะนำให้ตรวจวัดระดับน้ำมันเครื่องเป็นกิจวัตรทุกวัน แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีการผลิตเครื่องยนต์ และน้ำมันเครื่องได้ก้าวหน้าไปมาก ส่งผลให้น้ำมันเครื่องที่สูญหายไปในระบบลดลง “ช่างเอก” จึงขอแนะนำให้ “ตรวจวัดระดับน้ำมันเครื่อง”สัปดาห์ละ 1 ครั้ง สำหรับวิธีการตรวจเช็คด้วยตนเอง สามารถทำได้ดังนี้

– จอดรถในทางราบ

– ติดเครื่องเดินเบาจนถึงอุณหภูมิพร้อมใช้ หรือจะตรวจวัดหลังจากการเดินทางก็ได้

– ดับเครื่องยนต์รอเวลาประมาณ 2 นาที ให้จึงดึงก้านวัดน้ำมันเครื่องซึ่งจะอยู่ข้าง ๆ เครื่องยนต์ออกมาแล้วใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชู่เช็ดน้ำมันเครื่องที่ปลายก้านวัดออก

-เสียบก้านวัดน้ำมันเครื่องกลับเข้าไปจนสุด

-ดึงก้านวัดน้ำมันเครื่องออกมาอีกครั้ง ตรวจดูระดับน้ำมันเครื่องที่ปลายก้านวัด ซึ่งจะมีขีดบอกระดับ Fหรือขีดบนสุดหมายถึงน้ำมันเครื่องยังสูงสุด L หรือขีดลางสุดหมายถึงระดับน้ำมันเครื่องต่ำสุด ทั้งนี้หากระดับน้ำมันเครื่องให้อยู่ระหว่างขีด F และ L ถือว่าปกติ แต่หากต่ำกว่า L ถือว่าน้ำมันเครื่องขาดต้องเติม

-หากน้ำมันเครื่องขาดให้เติมที่ละน้อย สลับกับการดึงก้านวัดตรวจสอบจนได้ระดับ

-เมื่อตรวจวัดระดับน้ำมันเครื่องเสร็จแล้ว ต้องเสียบก้านวัดระดับน้ำมันเครื่องลงที่เดิมให้สุด

เทคนิคควรรู้

ระดับน้ำมันเครื่องที่สูงมากจนเกินไป

-จะถูกดันผ่านแหวนลูกสูบขึ้นไปเผาไหม้พร้อมกับน้ำมันเชื้อเพลิง ส่งผลให้มีเขม่าจับภายในห้องเผาไหม้ เครื่องยนต์อาจเกิดการน็อกได้

-น้ำมันเครื่องจะดันออกทางซีลหน้าและด้านหลังของเพลาข้อเหวี่ยง ทำให้เกิดการรั่วซึม

-ทำให้เกิดแรงดันในห้องเครื่องสูงและจะดันไอน้ำมันเครื่องออกมาทางท่อระบายได้มาก

-ทำให้เครื่องยนต์ร้อนจัด

ระดับน้ำมันเครื่องต่ำเกินไป

-ปั๊มน้ำมันเครื่องจะไม่สามารถดูดน้ำมันและส่งไปหล่อลื่นชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหวภายในเครื่องได้อย่างพอเพียง ส่งผลให้เกิดการสึกหรอที่สูงกว่าปกติหลายเท่าตัว และเครื่องยนต์กลับบ้านเก่าก่อนเวลาอันควร

บทความที่เกี่ยวข้อง…

-น้ำมันเครื่อง : เรื่องที่ต้องรู้ ภาค2

-น้ำมันเครื่อง:เรื่องที่ต้องรู้!!

-กรองน้ำมันเครื่อง : สิ่งสำคัญที่ถูกลืม

…………………………………..

คอลัมน์ :รู้ก่อนเหยียบ

โดย“ช่างเอก”

ติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงที่ [email protected]

…………………………..

ขอบคุณข้อมูลจาก

-www.oilsquare.com

-บริษัท มาสเตอร์ มอเตอร์ เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด / www.mmsboschcarservice.com https://www.dailynews.co.th/article/354617